Top

What all couples need to know for a joint home loan?

สิ่งที่ทุกคู่รักต้องรู้...ก่อนกู้ซื้อบ้านร่วมกัน


    เป็นเรื่องธรรมดาที่คนรักกันทุกคู่ย่อมฝันอยากมีชีวิตร่วมกัน สร้างครอบครัวด้วยกัน สำหรับคู่รักที่กำลังวางแผนจะร่วมกันกู้เงินซื้ออสังหาริมทรัพย์ มีรายละเอียดหลายอย่างที่คุณและคนที่คุณรักควรทราบ ทำความเข้าใจถึงกฎกติกาต่าง ๆ ในขั้นตอนของการยื่นขออนุมัติสินเชื่อ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการกู้ร่วม และไม่มีปัญหาปวดใจทีหลัง

    สถานะของคู่ที่มีสิทธิ์ยื่นกู้ร่วมกัน – แม้ความรักจะเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่และมั่นคงแค่ไหนก็ตาม แต่ความรักอย่างเดียวคงยังไม่พอสำหรับการยื่นกู้ คู่รักหลายคู่จะต้องผิดหวังกับความจริงที่ว่า สถานะความสัมพันธ์ที่ไม่ได้รับการรับรองทางกฎหมาย เช่น ชายหญิงที่คบกันเป็นแฟนเฉย ๆ ไม่ได้แต่งงาน หรือคู่รักเพศเดียวกันที่อาจจัดงานแต่งงานกันมาอย่างเปิดเผย แต่ไม่มีสถานะเป็นคู่สมรสทางนิตินัยนั้น จะไม่สามารถกู้ซื้อบ้านร่วมกันได้ ธนาคารส่วนใหญ่ยินยอมให้ผู้กู้ร่วมเป็นคนภายในครอบครัวตามกฎหมายเท่านั้น เช่น มีความสัมพันธ์ทางเครือญาติ หรือใช้นามสกุลเดียวกัน ในกรณีเป็นพี่น้องที่ใช้คนละนามสกุล สามารถนำทะเบียนบ้านมาแสดงว่ามีบิดา มารดาคนเดียวกัน หรือกรณีคู่สมรสที่ไม่ได้จดทะเบียน ให้นำหลักฐานอื่น ๆ มาแสดง เช่น ภาพถ่ายแต่งงาน หรือการมีบุตรร่วมกัน

    ทางออกสำหรับการกู้ร่วมในกรณีที่ไม่ได้เป็นคู่สมรสตามกฎหมาย – แม้ในปัจจุบันสถาบันการเงินจะยังไม่อนุญาตการกู้ร่วมของคู่รักต่างเพศที่ไม่ได้แต่งงาน และคู่รักเพศเดียวกัน แต่คุณและคู่รักสามารถจดทะเบียนร่วมกันเป็นนิติบุคคลได้ เช่น เป็นห้างหุ้นส่วน  หรือเป็นบริษัทจำกัด โดยรับผิดชอบภาระหนี้สินที่กู้ร่วมกันในรูปแบบนิติบุคคลที่เป็นหุ้นส่วนกันทางธุรกิจ แต่ทั้งนี้ ก็ต้องมีการจัดการต่าง ๆ ในรูปแบบของบริษัทในเชิงธุรกิจจริง ๆ ด้วย หากจะจดทะเบียนจัดตั้งเป็นนิติบุคคลเพียงเพื่อกู้ซื้ออสังหาริมทรัพย์เพียงอย่างเดียวคงไม่คุ้ม
 

สิ่งที่ทุกคู่รักต้องรู้...ก่อนกู้ซื้อบ้านร่วมกัน


    กรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ - ตามปกติการกู้ร่วม จะกระทำใน 2 ลักษณะ คือ การใส่ชื่อคนเดียวเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ แต่ใช้หลายคนมากู้ร่วมได้ และ การกู้ร่วมโดยใส่ชื่อทุกคนมีกรรมสิทธิ์ในบ้านร่วมกัน ทั้งนี้การถือกรรมสิทธิ์ร่วม มีเรื่องที่ควรคำนึงถึงคือ หากภายหลังต้องการขายบ้านนั้น จะกระทำได้ก็ต่อเมื่อได้รับการยินยอมจากผู้ถือกรรมสิทธิ์ร่วมทุกคน หรือแม้ในกรณีจะทำการยกกรรมสิทธิ์ให้กับคนใดคนหนึ่งในผู้ที่ถือกรรมสิทธิ์อยู่แล้ว การโอนนั้นทางกรมที่ดินจะถือว่าเป็นการซื้อขายบ้าน ต้องเสียค่าธรรมเนียมการโอน ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย รวมถึงค่าอากรแสตมป์หรือธุรกิจเฉพาะ
 

สิ่งที่ทุกคู่รักต้องรู้...ก่อนกู้ซื้อบ้านร่วมกัน


    จำนวนผู้กู้ร่วม - สถาบันการเงินบางแห่งอาจจำกัดจำนวนผู้กู้ร่วมไว้ ยกตัวอย่างเช่น ไม่เกิน 2 คนเท่านั้น ส่วนเรื่องของการอนุมัติสินเชื่อบ้านของการกู้ร่วมจะพิจารณาจากรายได้ของแต่ละบุคคล แล้วหักค่าใช้จ่ายของทุก ๆ คนด้วย จากนั้นจะประเมินความสามารถในการผ่อนชำระต่อเดือน แล้วพิจารณาวงเงินสินเชื่อกู้บ้านต่อไป

    สิทธิประโยชน์ด้านการลดหย่อนภาษี – โดยทั่วไป ผู้ที่กู้เงินซื้อบ้าน สามารถนำตัวเลขยอดรวมของดอกเบี้ยที่จ่ายของเงินกู้บ้านในแต่ละปีมาลดหย่อนภาษีได้ตามจริง แต่สูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท / ปีภาษี สำหรับกรณีของการกู้ร่วมจะต้องนำมาหารเฉลี่ยตามจำนวนผู้กู้
 

สิ่งที่ทุกคู่รักต้องรู้...ก่อนกู้ซื้อบ้านร่วมกัน


    สถานะความสัมพันธ์ที่อาจเปลี่ยนไปในอนาคต – ในวันที่รักกัน ย่อมไม่มีใครคิดถึงวันที่ความสัมพันธ์จะพลิกผันไปในทิศทางที่ไม่พึงปรารถนา แต่หากคุณทำใจยอมรับได้ว่า ชีวิตคนเราเป็นสิ่งไม่แน่นอน การวางแผนสิ่งต่าง ๆ ให้รอบคอบจะทำให้ชีวิตมีปัญหาน้อยที่สุด หากคุณกำลังจะเข้าสู่สถานะผู้กู้ร่วมกับคู่ครอง ควรคิดให้ดีตั้งแต่ต้นว่า ชื่อของผู้ถือครองกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์นั้นจะระบุเป็นของคนสองคน หรือระบุชื่อใครคนใดคนหนึ่งเพียงฝ่ายเดียว โดยทั่วไปแล้ว การยินยอมให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีชื่อเป็นผู้ครอบครองกรรมสิทธิ์หลังโฉนดนั้น หมายถึงความรักและความไว้วางใจ และการให้เกียรติ แต่เพื่อความสะดวกทางกฎหมายและป้องกันปัญหาที่อาจเกิดจากความไม่แน่นอนในอนาคต การระบุชื่อผู้ถือครองกรรมสิทธิ์ร่วมกันทั้งสองคน เป็นทางเลือกที่สมเหตุสมผลที่สุด เว้นแต่ว่า จะมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งที่ใส่ชื่อเป็นผู้กู้ร่วมแค่เพียงในนาม แต่คนที่ผ่อนชำระจริง ๆ หรือจ่ายเงินผ่อนส่วนใหญ่มีเพียงคนเดียว ก็ควรใส่ชื่อผู้ที่ควรมีสิทธิ์นั้นตามที่เป็นจริง และหากวันหนึ่งความสัมพันธ์สิ้นสุดลง แต่ภาระในการผ่อนชำระยังไม่หมด ผู้ที่มีชื่อในกรรมสิทธิ์ของสินทรัพย์นั้นก็มีหน้าที่ต้องรับผิดชอบการผ่อนชำระต่อไปจนหมดหนี้ เว้นแต่จะมีการเจรจาเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขสัญญาเป็นอย่างอื่นตามแต่จะตกลงกันได้
 

สิ่งที่ทุกคู่รักต้องรู้...ก่อนกู้ซื้อบ้านร่วมกัน


    การแก้ชื่อผู้ทำสัญญาและผู้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ – โดยปกติ เมื่อสามีภรรยากู้ร่วมกัน ด้านหลังโฉนดก็ควรเป็นชื่อของทั้งคู่ แต่หากมีเหตุต้องเปลี่ยนแปลงให้เหลือเพียงคนใดคนหนึ่ง จะเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยุ่งยาก เพราะต้องทำเรื่องเปลี่ยนแปลงสัญญากับธนาคาร และเปลี่ยนแปลงกรรมสิทธิ์ที่กรมที่ดินด้วย ซึ่งถ้าจำเป็นก็ต้องติดต่อธนาคารเพื่อแจ้งความประสงค์ดังกล่าว และหาข้อตกลงในการทำสัญญาเงินกู้ฉบับใหม่ โดยการทำสัญญาเงินกู้ใหม่ จะได้รับวงเงินเท่ากับจำนวนหนี้ส่วนที่ยังคงค้างในการผ่อนบ้าน

    เมื่อศึกษาข้อมูลต่าง ๆ เหล่านี้อย่างละเอียดแล้ว ก็เหลือแต่การพิจารณาความเป็นไปได้ในความสัมพันธ์ระยะยาว และสถานะทางการเงินของคุณกับคู่รักที่จะพัฒนาความสัมพันธ์มาเป็นคู่ชีวิต ซึ่งหมายถึงการเป็นบุคคลคนเดียวกันตามกฎหมาย เพื่อที่จะได้ร่วมกันสร้างครอบครัวในบ้านดี ๆ สักหลังหนึ่งร่วมกันอย่างมีความสุขไปตราบนานเท่านาน

------------------------------------------
ชมข้อมูลบ้านเดี่ยว ทาวน์โฮม โฮมออฟฟิศ คอนโดมิเนียม เพิ่มเติมได้ที่ 
Website : www.realasset.co.th
Facebook : www.facebook.com/RealAssetDevelopment
Instagram : www.instagram.com/realasset.development/
LINE@ : @realasset
Call Center : 1232

NEWS & ACTIVITIES